โรคร้าย..ภัยใกล้ตัว และวิธีดูแลสุขภาพในหน้าร้อน
ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคที่มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ในฤดูร้อนจะมีอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก กอปรกับสภาพร่างกายที่อ่อนแอของผู้คนในยุคปัจจุบัน เมื่อเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เย็นมากหรือร้อนมากก็จะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานภายในของร่างกายแล้วแสดงผลออกมาเป็นอาการเจ็บไข้ได้ป่วยตามมานั่นเอง ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแบบนี้ ยังเป็นสภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดโรคระบาดต่างๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือและป้องกันโรคภัยที่มากับหน้าร้อน เรามาทำความรู้จักกับโรคภัยเหล่านี้กันเถอะค่ะ

- โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายรับความร้อนมากเกินไปจนปรับตัวไม่ได้ ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 °C เมื่ออุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นจะกระตุ้นสมองส่วน Hypothalamus และสมองส่วนปลายทำให้เลือดไหลไปที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น เหงื่อจะออกเร็วขึ้นและมีปริมาณมากกว่าปกติ ปริมาณเกลือในเหงื่อจะน้อยลง หัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้น หายใจเร็วขึ้นเพื่อขับความร้อนออกจากร่างกาย หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูง อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเท ใช้พัดลมเพื่อระบายความร้อน ประคบน้ำเย็น และให้ดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์
- โรคไข้หวัดแดดหน้าร้อน หรือ ไข้หวัดแดด มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ การแสดงอาการของโรคอาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอากาศร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไป โดยมีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงมาก เช่น อาการหวัดธรรมดาจนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ดังนั้นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ จึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทได้น้อย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ ตลาด ฯลฯ การดูแลผู้ป่วยไข้หวัดแดดจะรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัดปกติ นั่นคือ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่น และเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เป็นต้น
- โรคอุจจาระร่วง (Diarrhea) เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร สาเหตุที่ทำให้เกิดร้องนี้มาจากหลายปัจจัย อาทิ อาหารไม่สะอาด น้ำแข็งไม่สะอาด สัมผัสพื่นผิวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ฯลฯ อาการของโรคนี้คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว 3 – 5 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้งใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง และหากได้รับเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) จะมีโอกาสเป็น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) ได้ ซึ่งโรคนี้มีความรุนแรงมากกว่าโรคอุจจาระร่วงแบบธรรมดา คือ จะมีอาการอาเจียนและมีไข้สูงร่วมด้วย ควรรับประทานน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ ปกติโรคนี้จะหายเอง หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
- โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) และ โรคบิด เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดพอ สุกๆดิบๆ หรือบูดเสียแล้ว ซึ่งอาหารเหล่านั้นมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส อาทิ อิโคไล (E. Coli) คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) และ ชิเกลล่า (Shigella) ฯลฯ ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ปวดบิด ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อาการส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นอาจจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้ โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1 – 10 วัน ขึ้นอยู่กับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสและปริมาณของเชื้อโรคที่ได้รับ
- โรคไทฟอยด์ (Typhoid) หรือ ไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารหรือได้รับจากการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อนี้ ซึ่งปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียนี้ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนทั่วโลกโดยเฉพาะเด็ก และความร้ายแรงของโรคนี้คือผู้ป่วยนับเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ทางอุจจาระ ลักษณะของโรคไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดเนื้อปวดตัว ปวดท้อง ท้องผูกและท้องเสีย คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที แพทย์จำเป็นต้องใช้วิธีตรวจเลือดเพื่อยืนยันลักษณะของโรค และให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และจะพบว่าม้ามโตบริเวณชายโครงด้านซ้าย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- อหิวาตกโรค (Cholera) หรือ โรคห่า คือ โรคระบาดชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio cholerae) ภายในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง เชื้อแบคทีเรียนี้ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม ผู้ที่ได้รับเชื้อมักปรากฎอาการในระดับอ่อนภายใน 12 ชั่วโมงถึง 5 วัน และบางครั้งจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากและอาเจียน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำทำให้ร่างกายช็อคได้ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิติภายในไม่กี่ชั่วโมง
- โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies Virus) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้ติดต่อได้จากการที่ถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่เป็นแผลอยู่แล้ว ในระยะ 2 – 3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำๆและต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร เกิดอาการกลืนลำบาก อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผลที่ถูกกัด กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญถูกทำลายไปหมด และถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะสามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
วิธีดูแลสุขภาพในหน้าร้อน
| ![]() |