กรดไหลย้อน...เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ !!

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอก หรืออาการขย้อนจนรบกวนชีวิตประจำวันได้ สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะหลอดอาหารอักเสบ มีแผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- กรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น
- กรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสีย หมายถึง กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาอยู่ภายในหลอดอาหาร และไหลเกินขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาการส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่คอและกล่องเสียงขึ้น
อาการ
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก หลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย
- มีรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบ มีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก
- ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางบริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ
- หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงอักเสบ
- ในเด็กเล็ก อาการได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาหยุดหายใจขณะหลับ
สาเหตุ
- เกิดจากความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดน้อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
- เกิดจากความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
- เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลต จะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
- เกิดจากโรคไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatus Hernia) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นยื่นเข้าไปในกระบังลม
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะ และเพิ่มอาการกรดไหลย้อน เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มอัดแก๊ส เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ โกโก้ ฯลฯ
- สูบบุหรี่
- ทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนประเภท ผัด ทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสจัด ซอสที่เป็นครีม ฯลฯ
- รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว หรือทานเร็วเกินไป
- รับประทานอาหารดึก หรือเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารยังไม่ครบ 4 ชั่วโมงแล้วนอน
- เป็นโรคอ้วน ไม่ชอบออกกำลังกาย
- อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- ความเครียด ทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง และหลั่งกรดมากขึ้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยกรดไหลย้อนในกรณีทั่วไปจากการซักประวัติและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจพิเศษเพิ่มเติมหากไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดหรืออาการไม่ชัดเจน เช่น
- การส่องกล้องทางเดินอาหาร
- การตรวจการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร
- การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
- การตรวจระบบทางเดินอาหาร
- การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- การตรวจวัดความเป็นกรด
การรักษา
1) ปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น เช่น
- รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีและตรงเวลา
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
- ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
2) การรับประทานยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อช่วยลดภาวะกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น เช่น
- ยาเคลือบกระเพาะอาหารรักษาแผล
- ยาลดกรด
3) การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบน ซึ่งจะใช้กับผู้ป่วยในบางกรณีดังนี้
- แนะนำในกรณีที่การรักษาในข้อ 1) และ ข้อ 2) ไม่ได้ผล
- ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาเป็นเวลานาน หรือมีผลข้างเคียงจากยา
กรดไหลย้อนเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จาปินขอร่วมสนับสนุนให้ทุกท่านห่างไกลจากกรดไหลย้อน ด้วยการหมั่นดูแลใส่ใจสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตตามคำแนะนำ และอย่าลืมดื่มน้ำไอวอเตอร์ (iWater) ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว (1.5 – 2 ลิตร) ด้วยคุณสมบัติเด่นเป็นน้ำกลุ่มโมเลกุลเล็ก และคงไว้ซึ่งแร่ธาตุในน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สะอาดปราศจากเชื้อโรคและแบคทีเรีย มั่นใจในคุณภาพและรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NSF)